โรคมะเร็งท่อน้ำดี (biliary tract cancer; cholangiocarcinoma) ปัจจุบันมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก อาการเมื่อเริ่มเป็นไม่ชัดเจน แต่อาการจะชัดเจนเมื่อโรคลุกลามแล้ว (advanced stage) การรักษาทำโดยการผ่าตัดเป็นหลัก แต่ก็มีกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ ซึ่งทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีชนิดที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ (advanced unresectable biliary tract cancer) ยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยสูตรการรักษาทางเลือกแรกที่มีการใช้มานานนับทศวรรษ คือ การให้ยา gemcitabine ร่วมกับยา cisplatin (สูตรเคมีบำบัด GemCis)
งานวิจัยทางคลินิก TOPAZ-1 trial มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการให้ยา durvalumab เพิ่มเติมจากการให้ยาเคมีบำบัดสูตร GemCis ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีชนิด unresectable locally advanced หรือ recurrent หรือ metastatic biliary tract cancer รวม 365 ราย โดยเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ (intrahepatic cancers) ร้อยละ 55 มะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ (extrahepatic cancers) ร้อยละ 19 และมะเร็งถุงน้ำดี (gallbladder cancer) ร้อยละ 25 จากสหรัฐอเมริกาและอีก 17 ประเทศในยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย โดยผู้ป่วยร้อยละ 55 จากเอเชียมาจากประเทศไทย ญี่ปุ่น และจีน โดยที่ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับยา gemcitabine (1,000 มิลลิกรัม/ตารางเมตร) และยา cisplatin (25 มิลลิกรัม/ตารางเมตร วันที่ 1 และวันที่ 8 ทุก 3 สัปดาห์) รวม 8 รอบ ทำการสุ่มผู้ป่วยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยา durvalumab 1,500 มิลลิกรัม ทุก 3 สัปดาห์ ก่อนการให้ยาเคมีบำบัด และ 1,500 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์หลังการให้ยาเคมีบำบัด ขณะที่อีกกลุ่มได้รับยาหลอกก่อนและหลังการให้ยาเคมีบำบัด เมื่อทำการศึกษานานประมาณ 1 ปี ผู้วิจัยพบว่าการให้ยา durvalumab เพิ่มเติมจากการให้ยาเคมีบำบัดมีแนวโน้มช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญ มี hazard ration=0.80 (p=0.021) และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยคือภาวะโลหิตจาง (ร้อยละ 48.2), ภาวะ neutropenia (ร้อยละ 31.7) และคลื่นไส้ (ร้อยละ 40.2) โดยพบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง (grade 3) หรือร้ายแรง (grade 4) ในผู้ป่วยที่ได้รับยา durvalumab ร้อยละ 75.7 และในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกร้อยละ 77.8 นอกจากนี้การหยุดการรักษาในผู้ป่วยที่ได้รับยา durvalumab และได้รับยาหลอกเพิ่มเติมจากยาเคมีบำบัดเพราะความเป็นพิษ คิดเป็นร้อยละ 8.9 และ 11.4 ตามลำดับ
การวิเคราะห์ก่อนสิ้นสุดงานวิจัยทางคลินิก “TOPAZ-1 trial” พบว่า การให้ยา durvalumab เพิ่มเติมจากการให้ยาเคมีบำบัดช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีขั้นรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาเคมีบำบัดอย่างเดียว อัตราการรอดชีวิตโดยรวมที่เวลา 2 ปีในกลุ่มที่ได้รับยา durvalumab ร่วมกับยาเคมีบำบัดมีค่าเท่ากับ ร้อยละ 29.4 มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาเคมีบำบัดอย่างเดียวซึ่งมีอัตราการรอดชีวิตร้อยละ 10.4
ข้อมูลจากงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดสูตรการรักษามาตรฐานสำหรับโรคมะเร็งท่อน้ำดีขั้นรุนแรงในอนาคต อย่างไรก็ตามยังต้องรอติดตามผลลัพธ์หลังงานวิจัยสิ้นสุด
แหล่งอ้างอิง: Nelson R. Potential New Standard of Care for Biliary Tract Cancer [Internet]. 2022 [cited 2022 Jan 26]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/967102#vp_1. Subscription required to view.