การกำหนดมื้ออาหารอาจเป็นกลยุทธ์ใหม่สำหรับรักษาความผิดปกติทางอารมณ์

จิตวิทยาโภชนาการ (nutritional psychiatry) กำลังเป็นที่จับตามองในปัจจุบัน นักวิจัยเริ่มให้ความสำคัญกับการค้นคว้าหาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับการนอน วงจรรอบวัน และสุขภาพจิต เนื่องจากมีข้อมูลว่าคนไข้โรคซึมเศร้ามักรับประทานอาหารที่มีคุณภาพต่ำโดยเฉพาะการบริโภคคาร์โบไฮเดรตปริมาณสูง ทั้งยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอาหารเมดิเตอร์เรเนียนสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และภาวะเครียดทางด้านจิตใจที่ต่ำกว่า

มีข้อมูลงานวิจัยระบุว่าคนทำงานเป็นกะร้อยละ 25-40 มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล ซึ่งมีผลทำให้ทั่วโลกต้องสูญเสียผลผลิต (productivity) ราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คนทำงานเป็นกะมักประสบปัญหาการรับรู้รอบวันคลาดเคลื่อน (circadian misalignment) ผิดไปจากรอบวันตามนาฬิกาชีวภาพของร่างกายที่ควบคุมโดยระบบประสาทส่วนกลาง (central circadian clock) และพฤติกรรมระหว่างวัน อาทิ พฤติกรรมการตื่น-การนอน ช่วงเวลาที่รับประทานอาหาร-ช่วงเวลาที่ท้องว่าง

งานวิจัยนี้ทำการศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี 19 ราย โดยใช้เกณฑ์วิธีทางห้องปฏิบัติการ พบว่า คนทำงานเป็นกะที่รับประทานอาหารเฉพาะช่วงเวลากลางวันอาจมีอาการทางอารมณ์น้อยกว่าคนทำงานเป็นกะที่รับประทานอาหารทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ผู้วิจัยจึงเสนอให้การกำหนดมื้ออาหารเป็นวิธีการช่วยลดความอ่อนไหวทางอารมณ์ในผู้ที่มีการรับรู้รอบวันคลาดเคลื่อนอาทิ ผู้ที่ทำงานเป็นกะ ผู้ที่มีอาการเมาเวลาเหตุการบิน หรือเจ็ตแล็ก (jet lag) หรือผู้ที่มีภาวะนอนไม่เป็นเวลา (circadian rhythm disorders)

          ผู้วิจัยอ้างอิงหลักฐานงานวิจัยก่อนหน้าที่พบว่าการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ผิดปกติเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความแปรปรวนทางอารมณ์จึงตั้งสมมติฐานว่าการรับประทานอาหารเฉพาะช่วงเวลากลางวันจะป้องกันความหวั่นไหวทางอารมณ์ของคนทำงานกะกลางคืนได้

ในขั้นตอนการวิจัยมีการสุ่มแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมงานวิจัยซึ่งเป็นอาสาสมัครสุขภาพดีออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับอาหารเฉพาะช่วงเวลากลางวัน (daytime-only meals intervention, DMI) และกลุ่มที่ได้รับอาหารทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน (daytime and nighttime meal control, DNMC) ทำการศึกษาโดยใช้เกณฑ์วิธีทางห้องปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาทั้งสิ้น 14 วัน

อาสาสมัครสุขภาพดี 19 คน ประกอบด้วยผู้ชาย 12 คน และผู้หญิง 7 คน มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 26.5 ± 4.1 ปี ถูกจัดให้อยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมแบบ forced desynchrony (FD) โดยจะได้รับแสงที่มีความเข้มต่ำ (dim light) นาน 28 ชั่วโมง เป็นเวลาทั้งสิ้น 4 รอบวัน ภายในระยะเวลา 14 วันของการวิจัย ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีการรับรู้รอบวันคลาดเคลื่อนไป 4 ชั่วโมงระหว่างรอบวันปกติที่ควบคุมโดยระบบประสาทส่วนกลางของร่างกาย และวงจรพฤติกรรมกับวัฏจักรสิ่งแวดล้อม เมื่อถึงวันที่ 4 จึงทำการวัดผลเปรียบเทียบผู้ป่วยกับวันแรกที่เริ่มงานวิจัย โดยกลุ่ม DNMC ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมของงานวิจัยนี้ จะมีการกำหนดช่วงมื้ออาหารและช่วงที่ท้องว่างให้เป็นไปตามกำหนดการแบบ 28 ชั่วโมงต่อรอบวัน โดยได้รับประทานอาหารทั้งเวลากลางวันและกลางคืนซึ่งเป็นพฤติกรรมทั่วไปของคนทำงานกะกลางคืน ขณะที่กลุ่ม DMI จะมีการกำหนดช่วงมื้ออาหารและช่วงที่ท้องว่างให้เป็นไปตามกำหนดการแบบ 24 ชั่วโมงต่อรอบวัน โดยได้รับประทานอาหารเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น

การวัดผลทำโดยใช้มาตรวัดที่อาศัยระบบคอมพิวเตอร์ประเมินผลที่เปรียบเทียบได้ด้วยสายตา (Computerized Visual Analogue Scale) ประเมินอารมณ์ที่คล้ายโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลอันหมายถึงสถานะที่มีการผสมกันของอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งพบได้โดยทั่วไปในโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล โดยทำการประเมินทุก ๆ ชั่วโมง ตลอดเวลา 4 วันที่ผู้เข้าร่วมงานวิจัยอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบ FD

ผลลัพธ์คือ พบการเพิ่มขึ้นของระดับอารมณ์ที่คล้ายโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลในกลุ่ม DNMC ร้อยละ 26.2 (95% confidence interval (CI) เท่ากับร้อยละ 21 ถึง 32.5, p-value = 0.001, p-value adjusted using false discovery rate (pFDR) = 0.01, effect-size r = 0.78) และร้อยละ 16.1 (95% CI เท่ากับร้อยละ 8.5 ถึง 23.6, p-value = 0.005, pFDR = 0.001, effect-size r = 0.47) ตามลำดับ และไม่พบการเพิ่มขึ้นข้างต้นในกลุ่ม DMI ทั้งอารมณ์คล้ายโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล (95% CI เท่ากับร้อยละ -5.7 ถึง 7.4, ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และ 95% CI เท่ากับร้อยละ -3.1 ถึง 9.9, ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ตามลำดับ)

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังมีการวัดผลเพื่อทดสอบว่าความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างทำงานกะกลางคืนมีความสัมพันธ์กับขนาดความคลาดเคลื่อนของการรับรู้รอบวันที่คลาดเคลื่อนไป โดยวัดความเปลี่ยนแปลงในระหว่างช่วงที่ตัวแปรของวงจรระดับน้ำตาลกลูโคสในรอบวันมีค่าสูงสุด (acrophase) และช่วงที่ตัวแปรของวงจรอุณหภูมิร่างกายในรอบวันมีค่าต่ำที่สุด (bathyphase) ทำให้พบว่า ขนาดความคลาดเคลื่อนของวงจรรอบวันที่เพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับการมีอารมณ์คล้ายโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น (r = 0.77, p-value = 0.001) และอารมณ์คล้ายโรควิตกกังวลที่เพิ่มขึ้น (r = 0.67, p-value = 0.002) ระหว่างทำงานกะกลางคืนอย่างตรงไปตรงมา

ผู้วิจัยให้ความเห็นว่าผลลัพธ์งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการกำหนดมื้ออาหารมีผลระดับปานกลางถึงมากต่ออารมณ์ที่คล้ายโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลระหว่างทำงานกะกลางคืน ทั้งยังสัมพันธ์กับขนาดความคลาดเคลื่อนของการรับรู้รอบวันที่คลาดเคลื่อนไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ผลลัพธ์งานวิจัยจะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านอาหารและสุขภาพจิต ยังต้องมีการศึกษาเพื่อหาความเป็นเหตุเป็นผล (causality) ระหว่างอาหารและอารมณ์คล้ายโรคซึมเศร้า และ/หรือ อารมณ์คล้ายโรควิตกกังวล รวมถึงแนวโน้มของผลกระทบต่อไป

แหล่งอ้างอิง

  1. Yasgur BS. Timing of food intake a novel strategy for treating mood disorders? [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 28]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/981394#vp_1. Subscription required to view.
  2. Qian J, Vujovic N, Nguyen H, Rahman N, Heng SW, Amira S, et al. Daytime eating prevents mood vulnerability in night work. Proc Natl Acad Sci USA [Internet]. 2022 [cited 2022 Oct 21]. Available from: https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2206348119.
error: Content is protected !!