ความร้อนกับประสิทธิภาพยา

ผลลัพธ์งานวิจัยโดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก (Heidelberg) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีพบว่า อุณหภูมิสูงสามารถลดประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการรักษาด้วยยาได้

เมื่อร่างกายต้องเผชิญกับสภาวะที่มีความร้อนหรืออุณหภูมิสูง ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายทาง อาทิ ความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น โรคเพลียแดด (heat exhaustion) และอาจนำไปสู่โรคลมแดด (heat stroke) ซึ่งอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยเฉียบพลัน ภาวะสมองบาดเจ็บ และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด นอกจากนั้นยังสามารถทำให้อาการของโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแย่ลง หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อไตเนื่องจากภาวะขาดน้ำ

ยาหรือเวชภัณฑ์ทุกชนิดก็อาจออกฤทธิ์หรือทำงานผิดปกติเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีความร้อนหรืออุณหภูมิสูง เกินกว่าที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยาหรือเวชภัณฑ์นั้น ดังเช่นที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำไว้ว่าระดับอุณหภูมิและปริมาณความชื้นที่สูงผิดปกติอาจทำให้อุปกรณ์เวชภัณฑ์ทำงานผิดปกติ อายุการใช้งานลดลงหรือทำให้อุปกรณ์เสียหาย มีผลทำให้สารสำหรับการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเสียประสิทธิภาพ หรือส่งผลเสียต่อคุณสมบัติปลอดเชื้อ (sterility) ของบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ยังแนะนำให้พิจารณาการจัดเก็บอุปกรณ์ด้วย เพื่อให้อุปกรณ์มีการทำงานที่เหมาะสม หลายชนิดต้องเก็บภายใต้สภาวะจำเพาะซึ่งมักมีการระบุไว้ที่บรรจุภัณฑ์

เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีรายงานตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal (BMJ) เกี่ยวกับเด็กวัย 11 ขวบซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ได้รับการรักษาด้วยการใช้อินซูลินปั๊ม (insulin pump) เกิดภาวะ diabetic ketoacidosis เนื่องจากอินซูลินปั๊มหยุดทำงานเพราะเผชิญกับสภาวะที่มีอุณหภูมิร้อนจัด เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นำมาสู่งานวิจัยชิ้นนี้

ผู้วิจัยได้รวบรวมและสรุปคุณสมบัติและข้อมูลจากเอกสารกำกับเวชภัณฑ์ในส่วนของรายละเอียดการเก็บรักษาซึ่งสอดคล้องกับสภาวะที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษายา โดยยาทั่วไปที่ไม่ได้ระบุสภาวะการเก็บรักษาอย่างจำเพาะจะได้รับการทดสอบการเก็บรักษาในสภาวะที่มีอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส และความชื้นร้อยละ 75 สำหรับยาที่มีการระบุอุณหภูมิจำเพาะจะได้รับการทดสอบความคงตัวในระยะยาวที่อุณหภูมินั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ายาจะสูญเสียความคงตัวหรือคุณภาพในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงกว่าที่ได้รับการทดสอบ หรือในสภาวะที่เกินข้อจำกัดในช่วงสั้น ๆ และยังพบว่า ยารูปแบบของแข็งชนิดรับประทานหลายรายการมีความคงตัวนานกว่า 2 ปีในภูมิอากาศเขตร้อน (tropical climates) เทียบเท่ากับความคงตัวของยาเหล่านั้นที่เก็บ ณ อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าความร้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายทาง ความเครียดเนื่องจากความร้อน (heat stress) ก็ส่งผลต่อผู้ป่วยเช่นกัน และอาจนำไปสู่ระยะล้มเหลวของโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ อาทิ หัวใจล้มเหลว หรืออาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา อาทิ ภาวะ neuroleptic malignant syndrome ในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน นอกจากนั้น อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำซึ่งทำให้บางอวัยวะทำงานได้จำกัด เช่น การทำงานของไตบกพร่องส่งผลให้การขจัดยาออกจากร่างกายลดลง และต้องคำนึงถึงการปรับลดขนาดยา ผู้วิจัยมีการระบุขนาดยาขับปัสสาวะที่ควรพิจารณาในบางกรณี เพราะการได้รับยาขับปัสสาวะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำเช่นกัน ดังนั้น การรักษาด้วยยาขับปัสสาวะจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับโรคลมแดด นอกจากยาขับปัสสาวะ ผู้วิจัยยังได้ระบุกลุ่มยาที่อาจรบกวนกลไกธำรงดุลของร่างกายเมื่อต้องอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นไว้ ดังนี้

  1. ยากลุ่ม angiotensin converting enzyme (ACE) inhibitors และ angiotensin receptor blockers (ARBs) มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกกระหายน้ำที่ลดลง ทว่ายังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับผลกระทบที่ตามมา
  2. ยากลุ่ม opioids, selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs), carbamazepine, anticholinergics และ tricyclic antidepressants อาจส่งผลเชิงลบต่อการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย (central temperature regulation)
  3. สารที่มีฤทธิ์เป็น muscarinic antagonists อาทิ anticholinergics, tricyclic antidepressants และ H1 blockers ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง และ antipsychotics อาจกระตุ้นภาวะขาดน้ำได้
  4. ยากลุ่ม sympathomimetic อาจมีผลต่อปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปยังบริเวณผิวหนังโดยควบคุมการหดตัวของหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง

จากข้อมูลข้างต้น สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสารที่มีฤทธิ์เป็น anticholinergic หรือกลุ่มที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท (sedative effect) จัดเป็นกลุ่มยาที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจรบกวนกลไกธำรงดุลของร่างกายเมื่อต้องอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรใช้ยาด้วยขนาดต่ำที่สุดที่เป็นไปได้
ความร้อนกับผลต่อเภสัชจลนศาสตร์

ความร้อนสามารถส่งผลต่อเภสัชจลนศาสตร์ผ่านหลายกลไก ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณสารออกฤทธิ์ที่ผู้ป่วยได้รับ ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิและการไหลเวียนเลือดที่เพิ่มขึ้นบริเวณผิวหนังสามารถเพิ่มความสามารถในการซึมเข้าสู่กระแสเลือดของยาที่ให้ผ่านผิวหนังหรือใต้ผิวหนังได้ อาทิ แผ่นแปะยากลุ่ม opioids

การไหลเวียนเลือดที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในสภาวะที่มีความร้อนจัดอาจลดปริมาณเลือดที่ไหลเวียนไปที่ไตและตับได้ถึง 1 ใน 3 โดยการไหลเวียนเลือดที่ตับส่งผลต่อชีวปริมาณออกฤทธิ์ (bioavailability) ของยาชนิดรับประทานที่มีสัดส่วนการสกัดยาที่ตับ (hepatic extraction rate) สูง อาทิ ยากลุ่ม tricyclic antidepressants หรือ beta blockers ตัวอย่างเช่น ระดับยา propranolol ในกระแสเลือดมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 เมื่ออยู่ภายใต้สภาวะที่ร้อนจัดและสัมพันธ์กับอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าลง

ผู้วิจัยจึงแนะนำว่า ควรดูแลและติดตามการรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากความเครียดเนื่องจากความร้อน โดยเฉพาะในช่วงที่มีปรากฏการณ์คลื่นความร้อน (heat wave) เพื่อติดตามความผิดปกติของการขจัดยา และพิจารณาหยุด ลดขนาด หรือพักการใช้ยาหรือเวชภัณฑ์นั้นเมื่อจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มยาที่มีผลรบกวนอุณหภูมิและการไหลเวียนของเลือด อาทิ first-line diuretics, anticholinergics หรือกลุ่มยาที่จำกัดการช่วยเหลือตัวเองของผู้ป่วย อาทิ sedatives, opioids

แหล่งอ้างอิง:

  1. Kron T. Extreme Temperatures Can Reduce the Efficacy of Drug Therapy [Internet]. 2022 [cited 2022 Aug 19]. Available from: https://www.medscape.com/viewarticle/979037. Subscription required to view.
  2. Medical Devices that Have Been Exposed to Heat and Humidity [Internet]. 2018 [cited 2022 Sep 30]. Available from: https://www.fda.gov/medical-devices/emergency-situations-medical-devices/medical-devices-have-been-exposed-heat-and-humidity.
  3. Office of climate change and health equity. Climate and Health Outlook: Extreme Heat. [Internet]. 2022 [cited 2022 Sep 30]. Available from: https://www.hhs.gov/sites/default/ files/climate-health-outlook-june-2022.pdf.
error: Content is protected !!