ติดต่องานเยี่ยมสำรวจที่ email : hpsurvey.thaihp@gmail.com หรือ โทร. 087-0858855
คำชี้แจงการเยี่ยมสำรวจขององค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาล
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เข้าเยี่ยมสำรวจระบบยาและงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลในนามขององค์กรวิชาชีพ สำหรับโรงพยาบาลที่ประสงค์ให้เยี่ยมสำรวจล่วงหน้าก่อนการเยี่ยมสำรวจรับรองคุณภาพ จากสรพ. ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง การรับรองคุณภาพครั้งแรก (Accreditation) การรับรองคุณภาพซ้ำ (Re-accreditation) และ การรับรองขั้นก้าวหน้า (Advanced Healthcare Accreditation หรือ AHA) จึงขอปรับปรุงเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินการเข้าเยี่ยมสำรวจโรงพยาบาลสังกัดต่าง ๆ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ดังนี้
ประเภทและขนาดของโรงพยาบาลที่สมาคมฯ จะเข้าเยี่ยมสำรวจระบบยาและงานเภสัชกรรม
1. กรณี Accreditation โรงพยาบาลที่สมาคมฯ จะเข้าเยี่ยมสำรวจ ได้แก่
- โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทุกแห่ง
- โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขนาด 90 เตียงขึ้นไป (หากจำนวนเตียงที่ขอเปิดบริการและจำนวนเตียงที่เปิดจริงไม่เท่ากัน ให้ยึดตามจำนวนที่มากกว่า
- โรงพยาบาลเฉพาะทาง ทั้งจิตเวช มะเร็ง ผิวหนัง และยาเสพติดทุกแห่ง (ไม่ขึ้นกับจำนวนเตียง)
- โรงพยาบาลและหน่วยงานบริการสาธารณสุขภาครัฐสังกัดหน่วยราชการอื่นๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ขนาด 90 เตียงขึ้นไป (หากจำนวนเตียงที่ขอเปิดบริการและจำนวนเตียงที่เปิดจริงไม่เท่ากัน ให้ยึดตามจำนวนที่มากกว่า)
- โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ไม่จำกัดจำนวนเตียง
2. กรณี Re-accreditation โรงพยาบาลที่สมาคมฯ จะเข้าเยี่ยมสำรวจ ได้แก่
- โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยทุกแห่ง
- โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลระดับ A ระดับ S ทุกแห่ง และโรงพยาบาลระดับ M1 ขนาด 300 เตียงขึ้นไป (หากจำนวนเตียงที่ขอเปิดบริการและจำนวนเตียงที่เปิดจริงไม่เท่ากัน ให้ยึดตามจำนวนที่มากกว่า)
- โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช ขนาด 300 เตียงขึ้นไป (หากจำนวนเตียงที่ขอเปิดบริการและจำนวนที่เปิดจริงไม่เท่ากัน ให้ยึดตามจำนวนที่มากกว่า)
- โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่มีขนาด 300 เตียงขึ้นไป (หากจำนวนเตียงที่ขอเปิดบริการและจำนวนเตียงที่เปิดจริงไม่เท่ากัน ให้ยึดตามจำนวนที่มากกว่า)
3. กรณี Advanced Healthcare Accreditation (AHA)
สมาคมฯ จะเข้าเยี่ยมสำรวจ เฉพาะโรงพยาบาลภาครัฐทุกสังกัด ขนาด 300 เตียงขึ้นไป (หากจำนวนเตียงที่เปิดจริงไม่เท่ากัน ให้ยึดตามจำนวนที่มากกว่า) และโรงพยาบาลเอกชน
ขั้นตอนการติดต่อขอรับการเยี่ยมสำรวจงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลและระบบยา
1. โรงพยาบาลแจ้งความจำนงขอรับการเยี่ยมสำรวจงานเภสัชกรรมโรงพยาบาล ล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนวันที่คาดว่าจะได้รับการเยี่ยมสำรวจรับรองคุณภาพจาก สรพ. หรือก่อนครบกำหนดอายุการรับรองคุณภาพ ผ่านระบบออนไลน์ที่อยู่บนเว็บไซต์สมาคมฯ www.thaihp.org โดยกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ซึ่งจะมีระบบตอบรับอัตโนมัติตอบกลับทาง e-mail เพื่อเป็นหลักฐานแสดงการแจ้งความจำนงตามเงื่อนไขของสรพ.รวจ ได้แก่
2. เมื่อสมาคมฯ ติดต่อขอกำหนดวันจากผู้เยี่ยมสำรวจได้แล้ว จะแจ้งชื่อผู้เยี่ยมสำรวจพร้อมนัดวันเข้าเยี่ยมสำรวจไปยังผู้ประสานงานฝ่ายพัฒนาคุณภาพหรือกลุ่มงานเภสัชกรรม หากตกลงวันเรียบร้อยแล้วจะส่งจดหมายเรียนผู้อำนวยการเพื่อแจ้งกำหนดการเยี่ยมสำรวจอย่างเป็นทางการต่อไป
3. เมื่อทราบกำหนดวันเยี่ยมสำรวจแล้ว ผู้ประสานงานฝ่ายพัฒนาคุณภาพหรือกลุ่มงานเภสัชกรรมจะต้องจัดส่ง (ไฟล์) ข้อมูลให้ผู้เยี่ยมสำรวจ ก่อนกำหนดวันเยี่ยมสำรวจ 2 สัปดาห์ ประกอบด้วย
- Service Profile ในส่วนของงานเภสัชกรรม
- แบบประเมินตนเองในส่วนของมาตรฐาน เรื่องระบบยา (SAR)
- โครงสร้างการบริหารงานฝ่ายเภสัชกรรม (Organization chart)
- นโยบาย แนวทาง มาตรการสำคัญของ PTC
- รายงานการประชุมคณะ PTC และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับระบบยา
- รายงานการประชุมของกลุ่มงานเภสัชกรรม
- ข้อมูลความคลาดเคลื่อนทางยา (ข้อมูลดิบและที่สรุป)
- ข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ข้อมูลการประเมินและสรุป)
- ข้อมูลการดำเนินงาน และตัวชี้วัดบริบาลทางเภสัชกรรม
- กรณีโรงพยาบาลต่ออายุการรับรอง ขอเพิ่มข้อมูล trigger ด้านยา ได้แก่ ข้อมูลการใช้ antidote, ข้อมูล drug induced (ADE, ADR) และข้อมูลอื่น ๆ ตามบริบทโรงพยาบาล เช่น ข้อมูลการวัดระดับยาในเลือด
รวมทั้งประสานงานเรื่องการเดินทาง/ที่พัก (ถ้ามี) ของวิทยากร
4. หลังการเยี่ยมสำรวจ สมาคมฯ จะจัดส่งสรุปประเด็นสำคัญ (Executive Summary) ทาง e-mailถึงผู้ประสานงานฝ่ายพัฒนาคุณภาพ และผู้ประสานงานสรพ. ภายใน 7 วันทำการหลังวันเยี่ยมสำรวจ และจะจัดส่งรายงานเยี่ยมสำรวจฉบับเต็มภายใน 1 เดือน
รายงานการเยี่ยมสำรวจระบบยาและงานเภสัชกรรม จะประกอบด้วย
1. ข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของโรงพยาบาล (ขนาด ระดับการให้บริการ พันธกิจ เข็มมุ่ง และสถานการณ์ขอรับรอง) ข้อมูลของกลุ่มงาน/แผนก/ฝ่ายเภสัชกรรม (อัตรากำลัง รวมถึงงานที่ดูแลรับผิดชอบ ทั้งงานบริการ งานผลิตยา งานบริหารเวชภัณฑ์ และงานบริบาลทางเภสัชกรรม ตามมาตรฐานวิชาชีพ) ข้อมูลเกี่ยวกับระบบยา (คณะกรรมการที่ดูแลระบบยา นโยบายความปลอดภัยด้านยา และการพัฒนางานที่สำคัญ)
2. ประเด็นที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบยา จำเป็นต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงให้เห็นความก้าวหน้าก่อนการเยี่ยมสำรวจรับรองคุณภาพจากสรพ. (ขึ้นกับระดับการพัฒนา) ได้แก่
2.1. งานพื้นฐานเภสัชกรรมที่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ รวมทั้งการปฏิบัติงานที่ ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติวิชาชีพ
2.2. ปัญหาของงานพื้นฐานระบบยาที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย
2.3. ข้อแนะนำจากการเยี่ยมสำรวจครั้งก่อนที่ยังไม่มีความก้าวหน้า สำหรับโรงพยาบาลที่ขอรับการรับรองซ้ำ และสมาคมฯ เคยเยี่ยมสำรวจแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาระบบยา คือ นโยบายจากคณะกรรมการที่ดูแลระบบยา และความร่วมมือของทีมสหวิชาชีพ
3. ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่ต้องพัฒนาตามกรอบงานพื้นฐานระบบยาในระยะต่อไป โดยทำความเข้าใจให้ถูกต้องและดำเนินการให้ครอบคลุม
4. สรุป เป็นการสรุปประเด็นปัญหาสำคัญของระบบยาในภาพรวม โดยพิจารณาตามบริบทขององค์กร มาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรม และกระบวนการพัฒนาระบบยาโดยทีมสหวิชาชีพ รายงานการเยี่ยมสำรวจระบบยาและงานเภสัชกรรม ไม่ได้สรุปผลว่าระบบยาผ่านการรับรองหรือไม่ แต่จะใช้เป็นข้อมูลในการติดตามการพัฒนาโดยเฉพาะประเด็นที่ต้องปรับปรุงเร่งด่วน เพื่อประเมินคุณภาพของระบบยาโดยผู้เยี่ยมสำรวจของสรพ.
ค่าใช้จ่ายในส่วนที่โรงพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบ
- ค่าเดินทาง
กรณีเดินทางด้วยรถยนต์: จัดรถรับส่งหรือจ่ายค่าน้ำมันตามระยะทาง ในอัตรา 4 บาท/กิโลเมตร (ขั้นต่ำ 1,000 บาท)
กรณีเดินทางโดยเครื่องบิน: จัดซื้อตั๋วเครื่องบินพร้อมประกันการเดินทาง และจ่ายค่ารถไปกลับจากบ้านถึงสนามบิน (ประมาณ 1,000-1,500 บาท) รวมทั้งจัดรถรับส่งจากสนามบินไปยังที่พักหรือโรงพยาบาล
- ค่าเยี่ยมสำรวจ: 6,000 บาท/คน/วัน
สำหรับรพ.ขนาดต่ำกว่า 400 เตียง: ผู้เยี่ยมสำรวจ 1 คน/วัน (6,000 บาท)
สำหรับรพ.ขนาด 400 เตียงขึ้นไป: ผู้เยี่ยมสำรวจ 2 คน/วัน หรือ 1 คน/2 วัน (รวม 12,000 บาท)
* กรุณาจ่ายด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารทหารไทย สาขาธาตุทอง เลขที่ 017-2-32294-3 ชื่อบัญชี สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เท่านั้น โดยใบเสร็จรับเงินจะระบุเป็น “ค่าบริการทางวิชาชีพเภสัชกรรม”
- ค่าที่พัก (ถ้ามี): กรุณาจองที่พักและแจ้งผู้เยี่ยมสำรวจ