ภญ.สุขสงบ บัวสรวง หัวหน้าแผนกเภสัชกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รวบรวมเภสัชกรโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร จัดตั้ง "กลุ่มเภสัชกรโรงพยาบาล" รุ่นแรกขึ้นโดยมีสมาชิกเป็นเภสัชกรจากสถานพยาบาลทั่วประเทศจำนวนมากที่มีความสนใจและต้องการเรียนรู้วิชาการใหม่ ๆ เพราะเห็นว่าความก้าวหน้าทางวิชาการจะนำมาซึ่งศักดิ์ศรีของเภสัชกรเอง
ในยุคนี้ เริ่มมีการจัดทำวารสารกลุ่มเภสัชกรโรงพยาบาลด้วยเพื่อเผยแพร่งานวิจัยและข้อมูลด้านยาให้กับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอแต่การจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดการประชุมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นเท่าที่ควร เพราะมีสถานะเป็นเพียงกลุ่มสาขาย่อยของวิชาชีพภายใต้เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพเภสัชกรรมที่มีฐานะเป็นที่ยอมรับทางสังคม
ภญ.ศรีดารา วิจิโน หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลประสาทในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกรุ่นแรกซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะงานด้านเภสัชกรรมคลินิกและทำงานดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ได้ขึ้นมาเป็นประธานกลุ่มเภสัชกรโรงพยาบาล ท่านมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพและบทบาทเภสัชกรรมโรงพยาบาลในประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมสากลด้วยการเปลี่ยนสถานะของกลุ่มให้เป็นสมาคมวิชาชีพเช่นเดียวกับในหลาย ๆ ประเทศที่มีการจัดตั้งสมาคมวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาลขึ้นเป็นการเฉพาะ
แนวความคิดดังกล่าวมีผู้เห็นค้านว่าจะกระทบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเภสัชกรจึงขาดเงินทุนสนับสนุน แต่ ภญ.ศรีดารา วิจิโน และเภสัชกรอีกหลายท่านสามารถฝ่าฟันผ่านอุปสรรคทั้งหลายได้ในที่สุด ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนก่อตั้ง สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า The Association of Hospital Pharmacy (Thailand) เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2532 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ภญ.ศรีดารา วิจิโน นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) คนแรก
ในระดับสากล
ภารกิจของสมาคมในช่วงแรกเน้นหนักไปที่การสร้างความยอมรับในตัวสมาคมและการพัฒนาวิชาชีพนอกจากการจัดประชุมวิชาการเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้เภสัชกรโรงพยาบาลแล้ว ยังมีการจัดทัศนศึกษาให้เภสัชกรโรงพยาบาลไปดูงานโรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานเภสัชกรรมโรงพยาบาลในประเทศไทยด้วย
ที่สำคัญ คือ การรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ The International Conference on Hospital Pharmacy Practice ในปี พ.ศ.2534 ที่ประสบความสำเร็จ มีเภสัชกรจาก 20 ประเทศ เข้าร่วมงานประชุมและนำเสนอผลงานทางวิชาการ ทำให้สมาคมฯ เป็นที่ยอมรับระดับสาก
สร้างความเข้มแข็งสมาคม
เมื่อ ภญ.ศรีดารา วิจิโน จำเป็นต้องลาออกจากวงการไปด้วยปัญหาความเจ็บป่วย ภญ.คุณหญิงทิพาพร สิตปรีชา หัวหน้าแผนกเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งได้รับการเรียนเชิญให้เป็นนายก สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลคนที่ 2 ได้สร้างความต่อเนื่องและเข้มแข็งให้แก่สมาคม
เน้นการสร้างจุดแข็งทางวิชาการ ด้วยการจัดการประชุมวิชาการสำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอปีละ 2-3 ครั้ง โดยจัดงานประชุมใหญ่ปีละครั้ง และปรับปรุงคุณภาพของวารสารสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลให้มีมาตรฐานเพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้และผลงานทางวิชาการของเภสัชกรจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ปีละ 2 ฉบับ
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการเดินทางไปดูงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลและโรงงานผลิตยาของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เห็นความก้าวหน้าของงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเข้าร่วมงานประชุมของ สหพันธ์เภสัชกรรมสมาคมแห่งเอเชีย (Federation of Asian Pharmaceutical Association: FAPA) ในต่างประเทศหลายครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับเภสัชกรจากประเทศต่าง ๆ
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ วาระที่ 2 (2538-2540) ภญ.คุณหญิงทิพาพร สิตปรีชา ได้ชักชวน รศ. ภญ.ธิดา นิงสานนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งลาออกมาทำงานบริหารในโรงพยาบาลเอกชน เข้ามาร่วมงานในตำแหน่งเลขาธิการ ทำให้ความเข้มแข็งทางวิชาการของสมาคมชัดเจนมากขึ้น ด้วยคุณวุฒิและความสามารถที่โดดเด่นในแวดวงวิชาการ
รศ. ภญ.ธิดา ได้พัฒนาคุณภาพการจัดงานประชุมวิชาการ โดยคัดสรรวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาถ่ายทอดความรู้วิชาการที่ทันสมัยให้กับสมาชิก และเป็นกำลังสำคัญในการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาลร่วมกับกลุ่มงานเภสัชกรรม กองโรงพยาบาลภูมิภาค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งได้เข้าร่วมคณะศึกษาดูงานการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (Hospital Accredition) ในประเทศแคนาดาร่วมกับบุคลากรจากภาครัฐด้วย ดังนั้น ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ.2540
รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ จึงได้รับการเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนที่ 3 และนำพาสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานโรงพยาบาลในยุคต่อมา
ภญ.คุณหญิงทิพาพร สิตปรีชา และ รศ. ภญ.ธิดา นิงสานนท์ นายกสมาคมคนที่ 2 และ 3 ได้สร้างสถานะของสมาคมให้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากด้วยจุดแข็งทางวิชาการที่ทันสมัย และทำให้สมาคมมีฐานะเป็นสมาคมวิชาชีพอย่างเต็มภาคภูมิด้วยการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ และมีบทบาทสำคัญเป็นที่ยอมรับในกระบวนการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลซึ่งเป็นกระแสที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลในระยะต่อมา
ภญ.ปรานี ภิญโญวัฒยากร ซึ่งเป็นกรรมการสมาคม มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมคนที่ 4 ยังคงสานต่อกิจกรรมด้านวิชาการเพื่อพัฒนางานวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในวาระของนายกสมาคมคนที่ 5-7 คือ ภญ.ทัศนีย์ เขียวขจี, ภญ.อุไร หนุนภักดี และ ภญ.วนิดา เดชาวาศน์ ที่ดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2546-2552 การดำเนินการของสมาคมฯ มีความก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง
มีการจัดประชุมวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการมากขึ้นจากปีละ 6 ครั้ง เป็นปีละ 12 ครั้ง โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมของ กลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ ต่าง ๆ ที่มีการก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ กลุ่มเภสัชกรสาขาโรคมะเร็ง (GTOPP) กลุ่มเภสัชกรผู้ปฏิบัติงานด้านการประเมินและติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ADCoPT) กลุ่มเภสัชกรผู้ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ (PIPHAT) กลุ่มเภสัชกรผู้ดูแลผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน ฯลฯ
มีหลักสูตรการฝึกปฏิบัติ ณ แหล่งฝึก หลังการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของกลุ่มต่าง ๆ และประเมินรับรองมาตรฐานแหล่งฝึกแล้ว ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากสมาคม นอกจากการจัดประชุมแล้ว กลุ่ม CoP ต่าง ๆ ยังมีการจัดทำหนังสือคู่มือการปฏิบัติงานอีกหลายเล่ม และฝ่ายวิชาการยังได้รวบรวมคำแนะนำการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ จัดทำเป็นหนังสือเล่มเล็กเพื่อแจกประชาชนในระหว่างสัปดาห์เภสัชกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546-2549 นอกเหนือจากการจัดทำหนังสือประกอบการประชุมวิชาการและวารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล
เข้าสู่ส่วนภูมิภาค
และประสานกับหน่วยงานภาครัฐ
ภก.วิพิน กาญจนการุณ ผู้ได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นด้านการบริหารจัดการงานเภสัชกรรมจากสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมคนที่ 8 โดยเป็นนายกสมาคมคนแรกที่มาจากโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค ทำให้สมาคมเป็นที่รู้จักของกลุ่มเภสัชกรโรงพยาบาลทั้งส่วนกลางและภูมิภาครวมทั้งมีการขยายวาระการทำงานของคณะกรรมการจากเดิม 2 ปี เป็น 3 ปี ด้วยความเห็นชอบของสมาชิกสมาคมในวาระการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ.2554
ในยุคนี้ นายกสมาคม ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการหรืออนุกรรมการของหน่วยงานภาครัฐด้วย เช่น คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาและการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมและระบบยาซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขวุฒิสภา คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ รวมทั้งได้ทำข้อตกลงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปีงบประมาณ 2553 สนับสนุนมาตรการของ สปสช. ด้านการเข้าถึงยาของประชาชนและการใช้ยาสมเหตุผลโดยดำเนินการจัดประชุมเภสัชกรประจำหน่วยบริการประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารให้เภสัชกรโรงพยาบาลรับทราบถึงโครงการเปลี่ยนแปลงระบบกระจายวัคซีนจากองค์การเภสัชกรรมสู่โรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งเภสัชกรจะมีบทบาทสำคัญในการควบคุมมาตรฐานการเก็บรักษาและสามารถประกันคุณภาพวัคซีนได้
การจัดประชุมทั้งในกรุงเทพและสัญจรไปยังภาคต่าง ๆ ดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมฯ จัดให้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิถ่ายทอดความรู้เรื่องยาและการให้บริบาลทางเภสัชกรรมที่เป็นประโยชน์กับเภสัชกรโรงพยาบาลรวมทั้งการนำเสนอเรื่อง การดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างไร้รอยต่อจากบ้านสู่ชุมชน (Seamless Pharmaceutical Care from Home to Community) ซึ่งจุดประกายให้เกิดการรวมตัวของเภสัชกรเยี่ยมบ้านเป็นกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติใหม่ชื่อ กลุ่มเภสัชกรครอบครัว (Society of Family Pharmacist) อันเป็นโอกาสในการพัฒนาบทบาทเภสัชกรที่ สปสช. เห็นประโยชน์และให้การสนับสนุนการจัดประชุมเรื่อง Family Pharmacist สำหรับเภสัชกรทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2555
ภก.สมชัย วงศ์ทางประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลระยอง ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฯ คนที่ 9 วาระปี 2555-2558 โดยยังคงมีนโยบายสานต่อกิจกรรมต่าง ๆ และประสานกับหน่วยงานภาครัฐด้วย
ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลสมุทรสาคร ซึ่งได้รับรางวัลเภสัชกรดีเด่นด้านบริหารจัดการปี พ.ศ.2548 และมีประสบการณ์การทำงานในคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม 2 วาระ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฯ ต่อจาก ภก.สมชัย และยังคงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเดิมต่ออีกวาระในปี พ.ศ.2561
สมาคมได้ขอเช่าพื้นที่ในอาคารใหม่ชั้น 16 โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ถนนพระราม 4 สร้างเป็นสำนักงานของสมาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมี ภญ.ปรานี ภิญโญวัฒยากร นายกสมาคมคนที่ 4 เป็นผู้อำนวยการสมาคม ดำเนินการบริหารจัดการด้านธุรการเพื่อสนับสนุนการทำงานของนายกและกรรมการบริหารสมาคมจนถึงปัจจุบันทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ มีความต่อเนื่องและสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิก รวมทั้งสามารถรองรับการขยายตัวของกิจกรรมสมาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ